ใครที่ต้องจด VAT ?

Wilinda Khamdee, CFP®, CISA
1 min readAug 25, 2021

--

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่มีรายได้จากการขายสินค้าหรือการให้บริการ ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT (Value Added Tax) เป็นเรื่องที่ควรต้องให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ไม่ว่าจะค้าขายในรูปแบบของบริษัท ห้างหุ้นส่วน หรือ บุคคลธรรมดา หากถึงเกณฑ์ที่จะต้องจด VAT แล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ จะถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย ทั้งทางแพ่งและอาญาทันที และยิ่งถ้าปล่อยไว้นาน ทั้งเรื่องของภาษีย้อนหลัง เบี้ยปรับเงินเพิ่ม รวมๆกันแล้ว อาจทำให้จำเป็นต้องปิดกิจการกันเลย

คำถามคือ เราก็ค้าขายนะ แต่ไม่ได้ใหญ่โตอะไร มีแค่หน้าร้านเล็กๆ หรือแค่ขายของออนไลน์เป็นงานอดิเรก จำเป็นต้องจดด้วยมั้ย ก็ต้องบอกว่า เกณฑ์ในการพิจารณาของสรรพากร ไม่ได้อยู่ที่ขนาด หรือดูว่าเป็นงานหลักหรืองานรอง แต่ดูจาก “ยอดขาย” ร้านเล็ก ๆ แต่ยอดขายไม่เล็ก ก็มีสิทธิ์เข้าเกณฑ์ได้

และเกณฑ์คือ

เมื่อกิจการที่มียอดขายเกิน 1,800,000 บาท ต่อปี และไม่ใช่ธุรกิจที่ได้รับการยกเว้น มีหน้าที่ต้องเก็บ VAT จากผู้บริโภคแล้วส่งต่อให้กับสรรพากร (จด VAT)

ต้องขอย้ำอีกทีว่าดูที่ “ยอดขาย” นะคะ ไม่ใช่ “กำไร”

กิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย

มีบางประเภทกิจการที่ได้รับการยกเว้นในการจด VAT แม้จะมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี เช่น

1. การขายพืชผลทางการเกษตรภายในประเทศ

2. การขายสัตว์ทั้งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตภายในประเทศ

3. การขายปลาป่น อาหารสัตว์

4. การให้บริการประกอบโรคศิลปะ(แพทย์)

5. การสอบบัญชี(นักบัญชี)

6. การว่าความ(ทนายความ)

7. การให้บริการของนักแสดงสาธารณะ(ดารา นักร้อง)

8. การให้บริการตามสัญญาจ้างแรงงาน (พนักงานประจำ)

9. การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์

10. การให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล

11. การให้บริการการศึกษาของสถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วย สถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน

รายละเอียดเพิ่มเติม ดูได้จาก https://www.rd.go.th/publish/5206.0.html (มาตรา 81)

ทุกวันนี้ต้องเสียภาษีเงินได้อยู่แล้วยังต้องเสีย VAT อีกเหรอ

สำหรับผู้ประกอบการที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี และไม่ได้อยู่ในประเภทกิจการที่ได้รับการยกเว้น จะมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีอยู่สองประเภท ได้แก่

1. ภาษีเงินได้ : แบ่งเป็น
- PIT (Personal Income TAX) สำหรับผู้ประกอบการบุคคลธรรมดา
- CIT (Corporate Income TAX) สำหรับผู้ประกอบการนิติบุคคล
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม : VAT (Value Added Tax)

ในส่วนของภาษีเงินได้ ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเสียภาษี เมื่อดำเนินกิจการแล้วเกิด ”รายได้” สำหรับบุคลธรรมดา หรือ เมื่อดำเนินกิจการแล้วเกิด ”กำไร” สำหรับบริษัท โดยภาษีประเภทนี้เป็นภาษีทางตรง ผู้ประกอบการก็ต้องเป็นผู้รับภาระนี้เอง

แต่สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีทางอ้อม โดยจะถูกเรียกเก็บเมื่อเกิดการซื้อขายสินค้าหรือบริการ จากผู้ซื้อหรือผู้รับบริการรายสุดท้าย กล่าวคือ ผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ สามารถโอนภาระภาษีนี้ไปยังผู้ซื้อหรือผู้รับบริการโดยบวกเพิ่มไปจากราคาขายปกติได้ และนำภาษีที่ได้รับนั้นส่งต่อให้กับสรรพากร

ดังนั้น กิจการใดที่มีการจด VAT จึงจำเป็นต้องตั้งราคาขายที่สูงขึ้นกว่าเดิม เพราะต้องเพิ่ม VAT เข้าไปจากราคาปกติ แล้วนำส่วนเพิ่มนั้นส่งต่อให้สรรพากรต่อไป

ด้วยเหตุนี้เอง แม้ว่าผู้ประกอบการจะสามารถผลักภาระในการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้บริโภคได้ แต่ในมุมของผู้บริโภคทั่วๆไป หากต้องตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการสองเจ้า ที่ขายสินค้าที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน และความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อ ก็อาจจะมีแนวโน้มที่จะเลือกสินค้าจากผู้ประกอบการที่ไม่มีการจด VAT มากกว่าผู้ประกอบการที่มีการจด VAT ก็เป็นได้

ต้องทำอย่างไรเมื่อเข้าเกณฑ์จด VAT

มาถึงตรงนี้ ผู้ประกอบการหลายคนอาจรู้สึกไม่ค่อยถูกชะตากับเจ้าภาษีประเภทนี้เท่าไหร่นัก แต่การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเรื่องสากล VAT เป็นภาษีประเภทหนึ่งที่รัฐในแต่ละประเทศต้องเก็บเพื่อนำเงินไปพัฒนาประเทศต่อไป อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการสามารถกำหนดกลยุทธ์ในการบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดโดยที่ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายได้

ใครที่ถึงเกณฑ์ไปแล้วยังไม่เคยจด VAT ลองเข้าไปปรึกษากับสรรพากรดู อาจจะพอขอผ่อนผันบางส่วนได้ ส่วนใครที่ใกล้จะถึงเกณฑ์แล้วหรือมีแผนที่จะขยายธุรกิจ โดยมีประมาณการยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็ควรวางแผนบริหารจัดการภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ

สำหรับพ่อค้าแม่ขาย ที่มีแค่หน้าร้านเล็ก ๆ หรือขายของออนไลน์แค่ในช่วงเวลาว่าง แต่มีแนวโน้มการเติบโตของรายได้ที่มากขึ้นเรื่อย ๆ อาจต้องพิจารณาเรื่องของการตั้งบริษัทไว้ด้วย เนื่องจากการจดจัดตั้งบริษัทอาจจะช่วยทั้งในแง่ของการบริหารจัดการภาษีเงินได้ การบริหารจัดการ VAT รวมถึงการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับกิจการด้วย อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งบริษัท จะมีค่าใช้จ่าย และการจัดการที่ต้องทำเพิ่มขึ้นมาจากการเป็นบุคคลธรรมดาอยู่พอสมควร ลองปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยประเมินความคุ้มค่า ข้อดีข้อเสีย ดูอีกครั้งก่อนตัดสินใจนะคะ

ส่วนผู้ประกอบการที่มีการจดเป็นบริษัทอยู่แล้ว อาจจะต้องพิจารณาในเรื่อง การบริหารจัดการรายรับรายจ่าย ภาษีซื้อ ภาษีขาย, การซื้อวัตถุดิบจากบริษัทที่มีการจด VAT, การขยายสาขา ขยายกิจการ เป็นต้น

--

--

Wilinda Khamdee, CFP®, CISA
Wilinda Khamdee, CFP®, CISA

Written by Wilinda Khamdee, CFP®, CISA

“The best way to predict the future is to invent it.”

No responses yet